โรคเก๊าท์ กับ โรคเก๊าท์เทียม ต่างกันอย่างไร

โรคเก๊าท์ กับโรคเก๊าท์เทียม ต่างกันอย่างไร

โรคเก๊าท์ และเก๊าท์เทียม เป็นชนิดหนึ่งของโรคข้ออักเสบ ที่สร้างอาการปวด บวม ร้อนแดง ที่บริเวณข้อของร่างกาย อาการของ 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกันมากจนแยกแทบไม่ออก แต่ที่จริงแล้วมีสาเหตุของโรคที่ต่างกันดังนี้

ความแตกต่างของ 2 โรคนี้

โรคเก๊าท์เกิดจากร่างกายมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ (สูงกว่า 7 มก./ดล.) ทำให้เกิดการตกผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต [monosodium urate (MSU)] ในข้อหรือเนื้อเยื่อรอบๆข้อ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวด บวมเฉียบพลันบริเวณ ข้อโคนนิ้ว หัวแม่เท้า ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเท้าและข้อนิ้วเท้า เป็นต้น ซึ่งหากปล่อยให้อาการถึงระดับเรื้อรังอาจมีภาวะไตวายร่วมด้วยได้ พบว่าคนที่เป็นโรคนี้จะมีระดับกรดยูริกสูงสะสมโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 20 ปี พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า โดยในเพศชายจะพบในช่วงอายุประมาณ 40-60 ปี และในเพศหญิงจะมีโอกาสเป็นมากขึ้นในวัยหลังหมดประจำเดือน

ส่วนโรคเก๊าท์เทียม เกิดจากการคั่งและสะสมของผลึกเกลือชนิดที่เรียกว่า แคลเซียมไพโรฟอสเฟตดีไฮเดรท [calcium pyrophosphate dehydrate (CPPD) ]เป็นโรคข้อที่เกิดจากการตกผลึกเกลือที่กระดูกอ่อนมีอาการคล้ายโรคเก๊าท์แท้ มักจะมีอาการปวดบวมบริเวณข้อใหญ่ ๆ ของร่างกายและมักจะสะสมบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อเท่านั้น จะไม่กระจายตัวไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่นเหมือนกับโรคเก๊าท์ ที่พบมากคือ ข้อเข่า ซึ่งมักจะมีอาการปวดเข่าเรื้อรังแบบเดียวกับโรคเข่าเสื่อมและอาจเป็นร่วมกันได้ใน 2 โรคนี้ มักพบในผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นได้ทั้งเพศชายและหญิง และมักพบได้ในผู้ที่มีความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิซึ่มบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยที่ต่อมไทรอย์ทำงานบกพร่อง ผู้ที่มีแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น

อีกหนึ่งความแตกต่างของ 2 โรคนี้คือ การรักษา ด้วยสาเหตุของโรคที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงการรักษาจึงแตกต่างไปด้วยซึ่งแพทย์จะต้องตรวจเจาะกรวดน้ำไขข้อเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค หากพบว่าเป็นโรคเก๊าท์ จะใช้ยากลุ่มที่ลดกรดยูริกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการไม่รับประทานอาหารประเภทโปรตีนหรือพิวรีนสูง มากเกินไป เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดหน่อไม้ฝรั่ง สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ ซึ่งจะเพิ่มกรดยูริกให้สูงขึ้นไปอีกทำให้อาการกำเริบได้ ปัจจุบันแพทย์แผนปัจจุบันสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ สำหรับเก๊าท์เทียมยังไม่มีวิธีการรักษาที่แน่ชัด จะเป็นการรักษาไปตามอาการ และใช้วิธีแก้ไขที่สาเหตุของโรคที่ชักนำการสร้าง CPDD เช่น การรักษาภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น หากเกิดอาการปวดบ่อย ๆ สามารถใช้ยาระงับปวดต้านอักเสบ เช่น ยาคลอจิซีน ยากลุ่ม NSAIDs ช่วยป้องกันการปวดอักเสบได้

หากมีอาการปวดบวมตามข้ออย่าได้นิ่งนอนใจควรเร่งพบแพทย์เพื่อให้การรักษาได้ถูกต้องตรงโรค ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเพียง 2 โรคนี้ แต่ยังมีโอกาสเป็นโรครูมาตอยด์ โรคเข่าเสื่อม และโรคที่เกี่ยวข้องเช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ได้อีกด้วย